อบรมคุณธรรมจริยะธรรม
โรงเรียนบ้านผางอุดมสมบูรณ์วิทยา
เป็นประจำทุกปี
1. พรหมวิหาร 4
ประกอบด้วย
1.1 เมตตาคือ ความรัก
1.2 กรุณา คือ ความสงสาร
1.3 มุทิตา คือ ความเบิกบานพลอยยินดี
1.4 อุเบกขา คือ ความมีใจเป็นกลาง
ความเมตตาและกรุณา ความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ และความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ เป็นคุณธรรมที่วิทยากรจำเป็นต้องมีเป็นเบื้องต้นเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนา ทั้งการพัฒนาคน การพัฒนางาน และการพัฒนาองค์กร หากขาดคุณธรรมดังกล่าว การจัดฝึกอบรมจะเป็นเพียงรูปแบบการให้ความรู้ชนิดหนึ่งซึ่งขาดความจริงใจที่จะให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาให้แก่ผู้รับการฝึกอบรม
คุณธรรมข้อนี้ควรมีอยู่ในทุกกระบวนการของการฝึกอบรม เริ่มตั้งแต่การสำรวจปัญหาขององค์กร การกำหนดความต้องการฝึกอบรม การกำหนดหลักสูตร การดำเนินการฝึกอบรม และการสรุปประเมินผล หากวิทยากรใช้ความเมตตาและกรุณาในการดำเนินงาน จะช่วยลดอวิชชาและอคติในการพิจารณา เพราะความเมตตาและกรุณาจะไม่ได้มุ่งเฉพาะไปที่คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความเมตตาและรักใคร่ที่จะให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้สาระความรู้ ทักษะโดยทั่วถึงกัน แม้ว่าจะได้บรรยายไปโดยครบถ้วนแล้วก็ยังจะทบทวนความเข้าใจด้วยคำถามหรือกรณีศึกษาต่างๆอย่างไม่เบื่อหน่ายเพียงเพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้ารับการอบรมมีความเข้าใจอย่างแท้จริง สามารถนำไปใช้ปฏิบัติในงานและแก้ปัญหาข้อติดขัดที่ทำให้เกิดช่องว่างในการพัฒนา
หากผลการประเมินระหว่างหรือภายหลังการฝึกอบรม พบว่าผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ทักษะ หรือทัศนคติที่ดีขึ้นกว่าก่อนเข้ารับการอบรม ก็นับเป็นความสำเร็จที่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรแจ้งให้กับทั้งวิทยากรและผู้เข้ารับการอบรมได้ทราบโดยละเอียด คือ ใช้อะไรเป็นตัววัด วัดแล้วได้ผลอย่างไร ดีขึ้นในด้านใด คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ มีความเชื่อมั่นได้กี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากผลการประเมินออกมาในทางที่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ ก็ไม่ควรด่วนสรุปว่าเป็นความผิดพลาดล้มเหลวของการดำเนินการ แต่จะต้องย้อนพิจารณาไปตามลำดับของเหตุและผลเพื่อหาสาเหตุและความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆตามหลักปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตาซึ่งกล่าวถึงเหตุปัจจัยที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป) และจัดการแก้ไขสาเหตุของปัญหาให้เหมาะสมสอดคล้องกับชนิดของสาเหตุและขนาดของปัญหาต่อไป
2. สัมมาอาชีวะ หาเลี้ยงชีพในทางสุจริต
ไม่ใช่ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์การจะสามารถแก้ได้ด้วยการฝึกอบรม ปัญหาที่สามารถแก้ได้ด้วยการฝึกอบรม จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพ ความสามารถทางสติปัญญา หนี้สินสะสมในองค์กร ข้อพิพาทในทางกฎหมาย คดีความ มักจะไม่สามารถใช้การฝึกอบรมมาแก้ปัญหาได้ วิทยากรที่มีคุณธรรมและจริยธรรมจะไม่หาวิธีการสร้างผลงานให้แก่ตนเองโดยจัดทำข้อเสนอการฝึกอบรมในเรื่องที่ไม่สมควร เพราะนอกจากจะเป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากรแล้ว ยังจะทำให้เกิดปัญหาด้านความเชื่อมั่นในการใช้การฝึกอบรมในการแก้ปัญหาอื่นๆด้วย โดยปกติแล้ว นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อความคิดเห็นของนักฝึกอบรมภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยมองข้ามการสำรวจความต้องการที่แท้จริงภายในองค์กร จนแม้กระทั่งจบการอบรมแล้วก็อาจเข้าใจผิดในความสำเร็จหรือล้มเหลวของการดำเนินการหากอ่านแต่เฉพาะรายงานสรุปผลการฝึกอบรมที่นักจัดฝึกอบรมทั้งหลายทำมาให้ การจัดทำข้อเสนออย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวงให้ผู้อื่นสำคัญผิด จึงเป็นคุณธรรมที่หากบกพร่องไปก็จะเกิดความเสียหายแก่องค์กรเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากทำให้เกิดความไขว้เขวหลงทางในวิธีการแก้ปัญหา
3. การสำรวมระวัง รู้จักยับยั้ง ควบคุมอารมณ์
เป็นคุณธรรมที่นำมาใช้ในขั้นการให้การฝึกอบรมของวิทยากร อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นรัก (ความหมายในทางกามารมณ์) โลภ โกรธ หรือ หลง ล้วนเป็นตัวทำลายความสำเร็จของการฝึกอบรม ไม่ว่าวิทยากรจะมีการเตรียมการจัดการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีเพียงใด ก็จะสูญเปล่าไปได้โดยทันทีหากในระหว่างการให้การฝึกอบรม มีการใช้อารมณ์เกิดขึ้น
วิทยากรจะต้องไม่ปล่อยให้ความใฝ่ต่ำในทางกามารมณ์เข้ามามีอิทธิพลแก่จิตใจของตนเป็นอันขาด การใช้สายตาแสดงความรู้สึกที่เป็นตัณหาราคะแก่ผู้เข้ารับการอบรมจะทำลายศรัทธาและความเชื่อถือทั้งสิ้นที่มีต่อวิทยากร การใช้คำพูดในลักษณะหยิกแกมหยอกหรือเกี่ยวพาราสี แม้จะช่วยสร้างบรรยากาศให้ดูคึกคัก แต่ก็หมิ่นเหม่ต่อการเสียมารยาทและได้รับการดูถูกจากผู้เข้ารับการอบรม
การแสดงความโลภของวิทยากรเพื่อให้ได้รับการเชื่อถือและได้รับการว่าจ้างให้มาอบรมซ้ำ โดยใช้เวลาในการให้การอบรมไปกับการแนะนำตัวและผลงานในอดีตมากจนเกินไปก็เป็นการทำลายบรรยากาศการฝึกอบรม ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมหมดความกระตือรือร้นและเกิดอคติในตัววิทยากร เกิดความลังเลไม่แน่ใจในระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่วิทยากรนำมาอบรม รวมไปถึงเกิดความรู้สึกโต้แย้งในมุมมองที่วิทยากรใช้ในการอภิปราย ความรู้สึกที่โต้แย้งอันเนื่องมาจากการขาดคุณธรรมของวิทยากร เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เข้ารับการอบรมและส่งผลให้การให้การอบรมครั้งนั้นถึงขั้นล้มเหลวหรือขยายตัวไปถึงเกิดการโต้แย้งถกเถียงที่รุนแรงได้
การแสดงความโกรธ กราดเกรี้ยวฉุนเฉียว หรือแสดงความเบื่อหน่ายจนสังเกตเห็นได้เมื่อผู้เข้ารับการอบรมไม่สามารถตอบคำถามพื้นฐานที่วิทยากรถาม หรือตอบผิดในคำถามที่เคยถามและให้คำเฉลยไปก่อนหน้านี้แล้ว เป็นการขาดคุณธรรมในด้านความอดทนที่จะให้เกิดขึ้นในระหว่างการให้การอบรมไม่ได้เป็นอันขาด วิทยากรเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหน้าของผู้เข้ารับการอบรมจำนวนมาก ทุกคนพยายามเรียนรู้ทุกสิ่งที่วิทยากรนำมาเสนอไม่เฉพาะจากข้อมูลแต่รวมถึงจากอากัปกริยาท่าทางต่างๆ การแสดงอารมณ์โกรธออกมาแม้เพียงเล็กน้อยจะเป็นที่สังเกตได้โดยง่ายและจะก่อให้เกิดปฏิกริยาต่อต้านเพราะความโกรธเป็นสิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมไม่คาดหวังว่าจะได้รับจากวิทยากรเนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมมาในฐานะผู้ไม่รู้ ความผิดพลาดในการเรียนรู้หรือการฝึกปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมหวังว่าจะได้รับความเข้าใจและให้อภัยจากวิทยากร
การพูดจาโอ้อวดยกยอตัวเอง แรกๆอาจเป็นมุกขำขัน แต่ถ้ามากจนผู้เข้ารับการอบรมรู้สึกได้ว่าเป็นความหลงตัวของวิทยากร ก็สามารถสร้างปฏิกริยาต่อต้านเป็นความรู้สึกหมั่นไส้และเกลียดชังในตัววิทยากรได้
4. ความสัตย์ ความซื่อตรง
ความเปิดเผย ตรงไปตรงมาในสภาพปัญหา วัตถุประสงค์ วิธีการวัดผล มาตรการแก้ไขที่ได้กระทำมาในอดีตรวมไปถึงกิจกรรมที่คาดว่าจะจัดให้มีขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่จำเป็นที่วิทยากรที่มีคุณธรรมและจริยธรรมควรแสดงให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทราบ การเก็บข้อเท็จจริงไว้เป็นบางส่วนเพื่อสร้างบทบาทความสำคัญของตนเองหรือเพื่อให้ตนได้มีโอกาสเปลี่ยนใจในวิธีการที่ยังไม่เปิดเผยออกไป ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลในด้านลบ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้การฝึกอบรมในครั้งที่กำลังจัดไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควร การมีความสัตย์และความจริงใจต่อกันจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติ เช่น การรวบรวมข้อมูล การจัดเตรียมแบบสำรวจความเห็น การตั้งประเด็นคำถาม และไม่สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการอบรมโดยเฉพาะอย่างการอบรมในสถานที่ทำงาน (In-house training)
หากวิทยากรให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ขยักไว้บางส่วนเพื่อไม่ให้ผู้อื่นรู้และนำไปใช้เพราะกลัวจะกลายเป็นผู้แข่งขันในเวทีอาชีพวิทยากร หรือการตอบคำถามแบบไม่ตรงกับข้อเท็จจริงกับสภาพปัญหา ล้วนแต่เป็นตัวการทำลายความสำเร็จของการให้การฝึกอบรม การเรียนรู้จะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สมบูรณ์ การวิเคราะห์สถานการณ์ก็จะมีสมมุติฐานที่ผิดพลาด เป็นการเสียเวลาและเสียโอกาสการพัฒนาทั้งตนเองและองค์กรไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
5. สัปปุริสธรรม
เป็นหลักความเหมาะสม คือ รู้จักคิด พูด ทำ กิจการงานและปฏิบัติงานได้เหมาะสมถูกกาลเทศะ ถูกบุคคล ถูกสังคม และถูกสถานการณ์ ประกอบด้วย
5.1 ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุแห่งทางเจริญและทางเสื่อม
5.2 อัตถัญญุตา รู้จักผลที่เกิดจากเหตุต่างๆตามที่เป็นจริง
5.3 อัตตัญญุตา รู้จักตน รู้ภูมิปัญญาและฐานะของตนตามที่เป็นจริงแล้ววางตนให้เหมาะสมแก่ฐานะ
5.4 มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ปฏิบัติตน วางตนให้เหมาะสมแก่ฐานะ และรู้จักประมาณในการบริโภค ใช้สอยทรัพย์ที่มีอยู่ตามที่มี
5.5 กาลัญญุตา รู้จักกาล รู้จักเวลาหรือโอกาสที่ควรหรือไม่ควรพูดหรือกระทำการต่างๆ
5.6 ปริสัญญุตา รู้จักชุมชนว่ามีฐานะความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างไรเพื่อการวางตนให้เหมาะสม
5.7 ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคลว่ามีอัธยาศัยใจคอ มีภูมิธรรม ภูมิปัญญา และมีฐานะอย่างไร เพื่อปฏิบัติตนหรือวางตนให้เหมาะสมตามฐานะของเราและของเขา
สัปปุริสธรรมทั้ง 7 ข้อนี้ เป็นหลักคุณธรรมที่บุคคลทั้งหลายที่อยู่ในสังคมพึงมีและยึดถือปฏิบัติ ซึ่งก็รวมไปถึงวิทยากรฝึกอบรม เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลดความขัดแย้งบาดหมางซึ่งอาจเกิดขึ้นในระหว่างการฝึกอบรม รู้ว่าอะไรควรไม่ควร วางตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์เหมือนกลยุทธการรบของซุนหวู่ที่ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ชัยชนะที่เกิดขึ้นในการฝึกอบรม คือ ความรู้ความเข้าใจทั้งที่เกิดขึ้นในตัวผู้เข้ารับการอบรม และระหว่างผู้เข้ารับการอบรมกับวิทยากรและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย
6. สังคหวัตถุ
6.1 ทาน ให้ปัน
6.2 ปิยะวาจา
6.3 อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา
6.4 สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน
เป็นคุณธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคมอีกรายการหนึ่งซึ่งควรมีอยู่ในการฝึกอบรม การให้แม้กระทั่งเวลาที่มากขึ้นไปกว่าที่ตกลงกันไว้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้และความเข้าใจ การพูดจาด้วยคำพูดที่สุภาพ มีหน้าตาที่ยิ้มแย้ม การเอาตัวเข้าสมานเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ล้วนแล้วแต่เป็นคุณธรรมที่สำคัญและจำเป็นต้องมีอยู่ตลอดการฝึกอบรม
7. ความหนักแน่นมั่นคง
วิทยากรฝึกอบรมเป็นเสมือนครู จึงต้องมีคุณธรรมเมือนคุณธรรมของครู คือ เป็นผู้มีความหนักแน่นมั่นคงทั้งทางจิตใจและความรอบรู้ ธรรมะที่จะช่วยให้เกิดคุณสมบัติดังกล่าว ได้แก่ พละ 5 ประการ (กัลยา พันปี, มปป)
7.1 ศรัทธาพละ หมายถึงมีความเชื่อในทางที่ดี
7.2 วิริยะพละ หมายถึง ความเพียรในทางที่ดี คือ เพียรระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้นในตัว เพียรทำความดีให้คงอยู่
7.3 สติพละ หมายถึงความระลึกได้ มีความรู้สึกตัวในการกระทำ การพูด การคิดให้รอบคอบ
7.4 สมาธิพละ หมายถึง ความมีใจจดจ่อแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่เป็นบุญกุศล สมาธิจะเป็นกำลังต่อต้านความฟุ้งซ่านมิให้เกิดในใจ
7.5 ปัญญาพละ หมายถึงความรอบรู้ คือรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
8. ความประพฤติดีงาม
วิทยากรฝึกอบรมต้องแต่งกายเรียบร้อย มีกริยาท่าทางสง่าผ่าเผย วาจาอ่อนหวาน มีความรู้และระเบียบวินัยอันดี (กัลยา พันปี, มปป) การแสดงออกอย่างสุภาพทั้งการแต่งกายและการใช้คำพูดจะทำให้ผู้รับการอบรมมีความรู้สึกเกรงใจและไม่กล้าแสดงอาการก้าวร้าวล่วงเกิน
9. ความมานะในการตักเตือน สั่งสอน
ตามหลักพุทธศาสนา การอบรมสั่งสอนควรมีคุณสมบัติดังนี้ (กัลยา พันปี, มปป)
9.1 สันทัสนา คือ สอนให้เข้าใจชัดเจน เห็นจริงอย่างที่ต้องการซึ่งจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือ สอนจากสิ่งที่ง่ายไปยาก สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม สอนจากสิ่งที่คุ้นเคยไปหาการใช้เหตุผล
9.2 สมาทปนา คือ มีการกระตุ้นเร่งเร้าเพื่อให้เกิดการกระตือรือร้นเพื่อประพฤติปฏิบัติตามที่ครูสอน ในที่นี้คือการทำกิจกรรมกลุ่ม (workshop) และการถกแถลงตามหัวข้อที่วิทยากรกำหนด
9.3 สมุตเตชนา สร้างกำลังใจเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าพูด กล้าทำ
9.4 สัมปหังสนา คือ สร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้เรียน คือ มีเทคนิคในการสอนที่จะทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจ
10. ความอดทนต่อถ้อยคำ
วิทยากรฝึกอบรมจะต้องมีคุณธรรมในการอดทนอดกลั้นต่อถ้อยคำและกริยาวาจาอันก้าวร้าวรุนแรงของผู้รับการอบรม ต้องรู้จักหักห้ามใจ มีขันติ รู้จักรักษาควบคุมอารมณ์ ไม่เบื่อหน่ายขุ่นเคือง (กัลยา พันปี,มปป) ต้องระลึกอยู่เสมอว่าผู้รับการอบรมแต่ละคนมีพื้นฐานทั้งด้านความรู้และนิสัยต่างกัน แต่การอดทนในลักษณะการวางเฉยแต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร วิทยากรจะต้องสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายโดยอาจขอความร่วมมือหรือขอคำปรึกษาจากผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เริ่มก่อตัวขึ้นจากการขาดคุณธรรมและจริยธรรมจากฝ่ายผู้เข้ารับการอบรม
หลักจริยธรรม
1. มีศีล มีวินัย
ศีลเป็นรากฐานของวินัย ผู้ที่จะสามารถรักษาศีลได้จะต้องเป็นผู้มีและรักษาวินัยได้อย่างเคร่งครัดมิฉะนั้นก็จะพลอยหลงไปตามสิ่งเย้ายวนต่างๆ การมีวินัยจะช่วยให้การรักษาระเบียบต่างๆเป็นไปได้โดยง่าย นับตั้งแต่การรักษาเวลาในการมาให้การอบรม การแต่งกายที่สุภาพให้เกียรติแก่สถานที่ การรักษากริยามารยาททั้งด้านวาจา ท่าทาง การมีส่วนร่วมในการถกแถลงหรืออภิปรายกลุ่ม
2. เป็นกัลยาณมิตร
หมายถึงการยกย่องคนดี การยอมรับฟังคำของผู้รู้ วิทยากรไม่ควรแสดงตนว่าเป็นผู้รู้ทุกสิ่งและไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นใดๆ พัฒนาการทางคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลเกิดจากการได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสภาพแวดล้อม การได้มีปฏิสัมพันธ์จะช่วยให้บุคคลเข้าใจความคิดเห็นของบุคคลอื่นมากขึ้นซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการพิจารณาเพื่อตัดสินใจในปัญหาต่างๆโดยเฉพาะกับปัญหาเชิงคุณธรรมและจริยธรรม (ทิศนา แขมมณี, 2546, หน้า 14) แต่การพัฒนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าวิทยากรไม่ทำตนให้เป็นน้ำพร่องแก้ว คือมีที่ว่างที่จะให้ความรู้และทัศนคติใหม่เพิ่มเติมให้แก่ตนได้ การถือทิฐิว่าเรื่องนี้ตนรู้แล้ว จะเป็นเครื่องปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้
3. ขวนขวายเป็นธุระ
ไม่นิ่งดูดายในกิจธุระของส่วนรวม วิทยากรจะต้องไม่คิดว่าภาระหน้าที่ของตนจบลงตามชั่วโมงการบรรยาย แต่ต้องพร้อมที่จะให้คำปรึกษาต่อเนื่องหากผู้เข้ารับการอบรมยังประสงค์จะได้รับคำชี้แนะเพิ่มเติม หรืออาจต้องไปหาข้อมูลมาประกอบและส่งให้ผู้จัดการฝึกอบรมในภายหลังด้วย
4. มีสติ มีปัญญาเหนืออารมณ์
ในหลักไตรสิกขา สติจะอยู่ในขั้นของการมีสมาธิ เป็นการรู้ตนว่ากำลังจะทำอะไร จะพูดอะไร ไม่ปล่อยให้อวิชชาทั้งหลายอันได้แก่ความรัก โลภ โกรธ หลงเข้าครอบงำพฤติกรรม ใช้ปัญญาในการดำเนินการและแก้ปัญหาโดยไม่ปล่อยตนให้เป็นไปตามอารมณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์โกรธ
สรุปและข้อเสนอแนะ
ทวีป อภิสิทธิ์ ได้กล่าวถึงจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อวิชาชีพของวิทยากรฝึกอบรมไว้ในหนังสือชื่อ เทคนิคการเป็นวิทยากรและนักฝึกอบรม (ทวีป อภิสิทธิ์, 2538, หน้า 13) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความหมายของคุณธรรมและจริยธรรมที่ได้นำมากล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้วทั้งสิ้น กล่าวคือ
1. ต้องศึกษาให้รู้จริงในสาขาที่ตนรับผิดชอบ การรู้จริงหมายถึงการมีความรู้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจเหตุผลและรายละเอียด สามารถอธิบายและใช้เทคนิควิธีถ่ายทอดความรู้ รายละเอียด และเหตุผลประกอบให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยง่าย
2. ต้องถ่ายทอดความรู้ ทักษะ เจตคติ ฯลฯ โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้และประโยชน์ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นสำคัญ
3. ต้องเคารพคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ในตัวของผู้เข้ารับการอบรมทุกคนโดยเท่าเทียมกัน
4. ต้องปฏิบัติต่อผู้เข้ารับการอบรมอย่างเสมอหน้า ความร่ำรวย ภูมิปัญญา บารมี ตำแหน่ง ชาติตระกูล ฯลฯ ไม่ควรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการเลี่ยงปฏิบัติ ละเว้น หรือให้อภิสิทธิ์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดได้
5. ต้องมีความเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อ โดยสำนึกอยู่เสมอว่า ผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ได้แตกต่างกัน
6. ต้องถ่ายทอดความรู้ เจตคติ ฯลฯ ให้ผู้เข้ารับการอบรมโดยไม่ปิดบังหรือบิดเบือนไปจากหลักวิชาหรือความเป็นจริง
7. ต้องไม่เปิดเผยความลับอันเป็นผลจากการฝึกอบรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม เช่น ภูมิปัญญาหรือจุดบกพร่องส่วนตัวของผู้เข้ารับการอบรม
8. ต้องตรงต่อเวลา รักษาเวลาในการฝึกอบรม
9. ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีโดยเฉพาะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
แม้จะแยกคุณธรรมและจริยธรรมของวิทยากรฝึกอบรมให้เห็นเป็นข้อๆ ก็เพียงเพื่อความชัดเจนในการอธิบาย ไม่ได้หมายความว่าวิทยากรฝึกอบรมที่ประสงค์จะเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดแก่ตนจะมาเลือกข้อที่ตนสนใจแล้วมาฝึกปฏิบัติกันเป็นข้อๆ ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ผิดธรรมชาติ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) (2535, หน้า 53) ได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตมนุษย์นั้นเกิดจากองค์ประกอบที่ประสานรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสัมพันธ์โยงถึงกันหมด การพูดแยกเป็นรายข้อนั้นควรทำเพื่อความสะดวกเพราะการที่จะเข้าใจองค์รวมให้ชัดเจนก็ต้องรู้จักองค์ประกอบทั้งหลายว่ามีอะไรบ้าง แต่ในเวลาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา จะต้องมองเห็นองค์ประกอบเหล่านั้นโยงสัมพันธ์กันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ใช่ไปแยกเป็นรายข้อแล้วสร้างเสริมขึ้นทีละอย่างซึ่งก็คงได้ผลบ้าง แต่แค่ฉาบฉวยผิวเผิน
วิทยากรฝึกอบรมที่มีความรู้ดี อาจไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมก็ได้ การที่เด็ก 3-4 คนจะมีน้ำใจและพยายามช่วยเหลือผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้หรือเหตุผล อาจใช้เพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น (นภาพร ณ เชียงใหม่, วันเพ็ญ บุญยืน, เดชา พรึงลำภู, 2548, หน้า 35) การติดยึดในทิฐิของวิทยากรว่าเป็นผู้มีความรู้ ไม่สนใจที่จะพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมให้เป็นธรรมในจิตใจจนใช้ออกได้ตามสัญชาตญาณ จึงกลายเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเพียงด้านเดียวคือด้านความรู้ แต่ขาดด้านคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อการนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แท้จริงแก่สังคมอย่างน่าเสียดายยิ่ง
วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือ วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
การที่ปฐมเทศนานี้ได้รับการขนานนามว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตรดังกล่าว ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกสรรพเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือพระอมตนิพพาน โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถหรือที่เรียกว่า จักร นั่นเ อง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า จักรธรรม หรือ ธรรมจักร
การที่ปฐมเทศนานี้ได้รับการขนานนามว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตรดังกล่าว ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกสรรพเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือพระอมตนิพพาน โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถหรือที่เรียกว่า จักร นั่นเ อง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า จักรธรรม หรือ ธรรมจักร
ตามธรรมดา “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือดุม กำ และ กง ส่วน “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบโพธิปักขิยธรรมเป็นดุม ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำ และอริยสัจ ๔ เป็นกง
สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ คือ การประกาศทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่เอียงไปทางกามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นการประกอบตนแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง ๕ และไม่เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยคอันเป็นการทรมานตนโดยหาประโยชน์มิได้ ซึ่งข้อปฏิบัติทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดีเพื่อความดับตัณหา เพื่อพ้นไปจากข้าศึก คือ กิเลส เป็นทางของพระอริยเจ้าผู้ละจากสภาวะฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้วพึงปฏิบัติตามหนทางสายกลางนี้เท่านั้น ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานี้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ(Meditation) มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นแนวปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็น พระสัพพัญญูพุทธเจ้า และทำให้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย
๑. ทุกขอริยสัจ คือ ทุกข์อย่างแท้จริง
๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง
๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น